Net Zero คืออะไร? รวมศัพท์ต้องรู้ ก่อนจะงงไปมากกว่านี้
ผู้เขียนทำงานประจำกับบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ได้ยินได้ฟังเรื่องของ Net Zero อยู่บ่อย จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องจริงจังมากน้อยก็ตามเรื่องตามราวไป คิดว่าในอนาคตต่อจากนี้ก็คงอยู่กับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นวาระระดับนานาชาติ ส่งผลโดยตรงต่อทุกภาคส่วนของสังคม การรู้ว่าคำศัพท์เฉพาะแต่ละคำที่เกี่ยวข้องกับ Net Zero มีความหมายว่าอย่างไร จะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น ผู้เขียนจึงรวบรวมคำศัพท์น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ Net Zero และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไว้ใช้อ้างอิง เป็นประโยชน์ทั้งกับผู้เขียนเอง และคุณผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้
ผู้เขียนจัดกลุ่มคำศัพท์และคำอธิบายทั้งหมดเป็นหมวดหมู่ 5 กลุ่มหลัก ดังนี้ครับ
1. กลุ่มก๊าซเรือนกระจกและการวัดผล
ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases - GHG)
คือ ก๊าซที่มีความสามารถในการดูดซับและกักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกซึ่งทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ก๊าซเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิบรรยากาศโลกให้คงที่
การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้ชั้นบรรยากาศกักเก็บรังสีความร้อนได้มากขึ้น ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก (Global Warming Potential: GWP) ที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการแผ่รังสีความร้อนของโมเลกุลและอายุของก๊าซนั้นๆ ในบรรยากาศ ค่านี้จะถูกคิดเทียบกับการแผ่รังสีความร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 20, 50 หรือ 100 ปี
ก๊าซเรือนกระจกหลักที่ได้รับการควบคุมภายใต้ข้อตกลงปารีสมี 7 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂), มีเทน (CH₄), ไนตรัสออกไซด์ (N₂O), ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs), เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs), ซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ (SF₆), ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF₃)
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)
หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ตลอดทั้งวัฏจักรชีวิต โดยวัดรวมในรูปของตันหรือกิโลกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO₂e)
การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นขั้นตอนแรกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนฟุตพริ้นท์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์
สำหรับองค์กร การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะกำหนดขอบเขตตามมาตรฐาน GHG Protocol ซึ่งแบ่งเป็น 3 Scopes ได้แก่ Scope 1 (การปล่อยทางตรง), Scope 2 (การปล่อยทางอ้อมจากการใช้พลังงานภายนอก), และ Scope 3 (การปล่อยทางอ้อมอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทาน)
องค์กรสามารถจำแนกสาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญและหาแนวทางลดขนาดของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้จากการวัดนี้
Scope 1, 2, 3 Emissions
การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะกำหนดขอบเขตตามมาตรฐาน GHG Protocol ซึ่งแบ่งเป็น 3 Scopes ได้แก่ Scope 1 (การปล่อยทางตรง), Scope 2 (การปล่อยทางอ้อมจากการใช้พลังงานภายนอก), และ Scope 3 (การปล่อยทางอ้อมอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทาน)
2. กลุ่มแนวคิดเป้าหมายและแนวทางลดก๊าซ
Net Zero Emissions หรือ Net Zero
หมายถึง สถานการณ์ที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย์สมดุลกับการกำจัดก๊าซเหล่านั้นการบรรลุเป้าหมาย Net Zero เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ต่ำกว่า 2°C และพยายามไม่เกิน 1.5°C ตามข้อตกลงปารีส การบรรลุ Net Zero ต้องมีการลดการปล่อยก๊าซในวงกว้าง และอาจต้องเพิ่มการนำก๊าซออกจากชั้นบรรยากาศ ประเทศไทยตั้งเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 (พ.ศ. 2608)
Zero Emissions หรือ Absolute Zero
หมายถึง การที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใดๆ จากกิจกรรมของหน่วยงานนั้นๆ ในทุกขอบเขต โดยไม่มีการใช้ Offset หรือการนำก๊าซออกเพื่อสร้างสมดุล
ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
หมายถึง การสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยกับการดูดซับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) เท่านั้น หรือกล่าวได้ว่า การปล่อย CO₂ สุทธิเท่ากับศูนย์
Carbon Neutrality อาจถือเป็นเป้าหมายระยะสั้นที่องค์กรหรือประเทศสามารถบรรลุได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยทั้งหมดทันที และควรเป็นขั้นตอนแรกที่นำไปสู่เป้าหมาย Net Zero ประเทศไทยตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (พ.ศ. 2593)
GHG Neutral
หมายถึง การที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของหน่วยงานหนึ่งเป็นศูนย์
Decarbonization (การลดคาร์บอน)
คือ กระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่างๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
Climate Neutrality
หมายถึง การที่กิจกรรมของหน่วยงานหนึ่งไม่ส่งผลกระทบสุทธิใดๆ ต่อระบบสภาพภูมิอากาศ
เพิ่มเติม May 23, 2025.
ความแตกต่าง Carbon Neutrality และ Net Zero
3. กลุ่มเครื่องมือและกลไกสนับสนุน
การชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset)
คือ การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรไม่สามารถลดเองได้ โดยการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ได้รับการรับรอง
การชดเชยคาร์บอนควรเป็นขั้นตอนเสริมหลังจากการลดการปล่อยโดยตรง
คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)
คือ หน่วยที่ใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นการซื้อหรือขายสิทธิในการปล่อยที่ได้จากการดำเนินโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถลดหรือกักเก็บก๊าซได้
เครดิตเท่ากับการลดหรือดูดซับคาร์บอน 1 ตัน CO₂e
คาร์บอนเครดิตสามารถนำไปใช้ในการบรรลุเป้าหมายขององค์กรหรือเพื่อชดเชยการปล่อยเมื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ
การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism)
เป็นเครื่องมือที่จูงใจให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรับผิดชอบต้นทุนที่แท้จริงของการปล่อย
กลไกหลักมีสองประเภทคือ ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme - ETS)
ตลาดคาร์บอน (Carbon Market)
ถูกตั้งขึ้นเพื่อซื้อขายและแลกเปลี่ยนคาร์บอนเพื่อนำไปใช้บรรลุเป้าหมายหรือชดเชยการปล่อย
ตลาดมี 2 ประเภท คือ ภาคบังคับและภาคสมัครใจ ปัจจุบันตลาดคาร์บอนในไทยยังอยู่ในภาคสมัครใจ
Greenwashing
หมายถึง การที่องค์กรแสดงหรือโฆษณาว่าตนเองมีการดำเนินงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เพื่อดึงดูดความสนใจหรือผลประโยชน์ทางธุรกิจ
เพิ่มเติม May 27, 2025.
การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage - CCUS)
กลุ่มเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) จากแหล่งปล่อยต่างๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า หรือจากอากาศโดยตรง จากนั้น CO₂ ที่ดักจับได้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หรือนำไปกักเก็บอย่างถาวรในชั้นหินใต้ดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ CCUS ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนที่ลดคาร์บอนได้ยาก (Hard-to-abate sectors) และสามารถช่วยในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้
4. กลุ่มการแก้ปัญหาจากธรรมชาติและการปรับตัว
Nature-based Solutions (NbS)
เป็นกลยุทธ์ที่ใช้กระบวนการทางธรรมชาติ เช่น การปลูกป่า ฟื้นฟูป่าชายเลน หรือระบบนิเวศ
เพื่อจัดการกับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติ โดยเน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
Carbon Sink (แหล่งดูดซับคาร์บอน)
หมายถึง พื้นที่หรือระบบธรรมชาติที่สามารถดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ เช่น ป่าไม้ มหาสมุทร หรือดิน การเพิ่มพื้นที่คาร์บอนซิงก์เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero
Climate Resilience (ความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)
คือ ความสามารถของระบบธรรมชาติ มนุษย์ หรือองค์กร ในการคาดการณ์ ปรับตัว และรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือพายุ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และยั่งยืนในระยะยาว
เพิ่มเติม May 27, 2025.
การเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition)
กระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานของโลกจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ไปสู่ระบบที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด (เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และไฮโดรเจนสีเขียว) รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนผ่านนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และเป็นหัวใจหลักในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero
5. กลุ่มที่เกี่ยวกับนโยบายสากล
ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)
เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2°C และพยายามไม่เกิน 1.5°C โดยมีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางร่วมกัน
เป้าหมายของประเทศไทย
ประเทศไทยตั้งเป้าหมายบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และบรรลุ Net Zero ภายในปี 2065 (พ.ศ. 2608) เพื่อสอดคล้องกับข้อตกลงปารีสและแนวนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลก
เพิ่มเติม May 27, 2025.
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs)
ชุดเป้าหมายสากล 17 ประการที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็น "พิมพ์เขียวสู่การบรรลุอนาคตที่ดีขึ้นและยั่งยืนสำหรับทุกคน" ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) เป้าหมายเหล่านี้ครอบคลุมมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเป้าหมายที่ 13 (SDG 13: Climate Action) มุ่งเน้นไปที่การดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ซึ่งมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับความพยายามในการบรรลุ Net Zero และข้อตกลงปารีส
หมายเหตุ ผู้เขียนตั้งใจที่จะปรับเพิ่มรายการคำศัพท์ที่น่าสนใจเป็นระยะ เรียนเชิญกลับเข้าอ่านทบทวนกันนะครับ
Comments
Post a Comment